ชุมชน

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา: ความเป็นมาและผู้คน

อยุธยา: ความเป็นมาโดยสังเขป

      เมื่อราว 5,000 กว่าปีมาแล้ว พื้นที่บริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยายังเป็นทะเลโคลนตม หรือทะเลอ่าวไทย  แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมของดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะทางน้ำและลำน้ำเก่าของบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมเก่า (Old delta) ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำในหลายๆที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ตื้นเขิน และเกิดสันดอนขึ้นจึงทำให้เกิดการโยกย้ายและขยายการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองมาสู่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมใหม่(Young delta)อยุธยาเป็นพื้นที่รอยต่อที่สำคัญระหว่างบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมเก่า (Old delta) และดินดอนสามเหลี่ยมใหม่ (Young delta)ที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีผู้คนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมซึ่งมาจากทั้งภายใน (หรือจากทางตอนบนของแผ่นดิน) และภายนอกที่เดินทางเข้ามาจากทางทะเล เพื่อมาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยและทำการค้า

ภาพ_บริเวณดินแดนดินดอนสามเหลี่ยมใหม่ เมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว
(a) ภาพโมเสกจากดาวเทียม LANDSAT TM บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาจากอ่าวไทยขึ้นไปจนถึงจังหวัดชัยนาท บริเวณที่มีสีเข้มเน้นให้เห็นขอบที่ลุ่มซึ่งเคยเป็นแนวชายฝั่งทะเลมาก่อน;
(b) ภาพถ่ายทางอากาศจำลองพื้นที่ที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาครั้นยังเป็นทะเล;
(c) แผนที่ลักษณะภูมิประเทศบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อประมาณ 5,000 ปีกว่ามาแล้ว
ที่มา: http://www.phanom.ac.th/musiumphanom/what%20is%20phanom/phanom.html

        ​อยุธยา หรือ “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” โดยมีชื่อนามเต็มว่า “กรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยา มหาดิลกบวรรัตนราชธานีบุรีรมย์” ถูกสถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 1893 โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ละโว้

ภาพ_พระนครศรีอยุธยาที่เต็มไปด้วยเรือสินค้าจากต่างประเทศ
ที่มา: http://www.matichon.co.th/news/205555

      จุดศูนย์กลางของเมืองเป็นบริเวณที่ดอนอันเกิดจากการทับถมของตะกอนโคลนตมจากแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำลพบุรี โดยตั้งอยู่ ณ บริเวณบึงโสน (ปัจจุบันเรียกว่า  บึงพระราม) มีการสร้างพระราชวัง มีการบูรณะวัดเก่าขึ้นเป็นวัดมหาธาตุให้เป็นวัดสำคัญของเมือง และมีการเปลี่ยนนามเมืองว่า “กรุงศรีอยุธยา” และใช้สืบมาจนสิ้นสุดสมัยเมื่อพ่ายแพ้สงครามต่อพม่าเป็นครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310

      จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า ก่อนที่สมเด็จพระรามาบดีที่ 1 จะสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นนั้น ในบริเวณนี้เคยมีบ้านเมืองที่มีชื่อว่า “อโยธยา” หรือ “อโยธยาศรีรามเทพนคร” ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของพระนครศรีอยุธยาอยู่ก่อนแล้ว  เดิมเป็นชุมชนชาวประมงเล็กๆ แต่ต่อมาชุมชนนี้ได้ถูกพัฒนาเป็นชุมชนสถานีหรือเมืองท่าที่สำคัญของอาณาจักรละโว้ (พุทธศตวรรษที่ 12-18)

      โดยเฉพาะหลังปี พ.ศ. 1600 เนื่องจากเมืองละโว้(ลพบุรีในปัจจุบัน) เดิมมีศูนย์กลางของรัฐอยู่บริเวณลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก คลายความสำคัญลง สาเหตุมาจากการตื้นเขินแม่น้ำลพบุรีและการทับถมของดินตะกอนที่ยื่นห่างออกไปทำให้จุดศูนย์กลางเมืองเริ่มอยู่ห่างไกลจากปากน้ำอ่าวไทยมากยิ่งขึ้น

      เนื่องจากอโยธยาทางฝั่งตะวันออกเป็นบริเวณที่ตั้งใกล้อ่าวไทยจึงพัฒนามาเป็นเมืองท่าสำคัญสำหรับการค้าที่นอกจากจะเชื่อมต่อกับชาวต่างชาติที่อยู่ห่างไกลทั้งกลุ่มชนชาติจากฝั่งตะวันออก (เช่น จีน ญี่ปุ่น และหมู่เกาะในทะเลจีนใต้) และกลุ่มชนชาติจากฝั่งตะวันตก (เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง โปรตุเกส สเปน ดัตช์(ฮอลันดา) และฝรั่งเศส) แล้วยังเป็นแหล่งรวมแม่น้ำลำคลองหลายสาย โดยเฉพาะแม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ช่วยให้เกิดการติดต่อคมนาคมเชื่อมโยงการค้ากับชุมชนภายในทางตอนบนของแผ่นดินอีกด้วย

      แม้จะมีหลักฐานว่าการพัฒนาบ้านเมืองอโยธยาเดิมได้เคยอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะเมืองในปัจจุบัน แต่ก็มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์โดยเฉพาะงานพุทธศิลป์ และศิลปะสถาปัตยกรรมในหลายส่วนที่มีลักษณะแบบเก่าก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาอยู่ในพื้นที่เกาะเมืองในปัจจุบันด้วย ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงถึงการขยายตัวของเมืองอโยธยามาแต่ดั้งเดิม ก่อนที่สมเด็จพระรามาบดีที่ 1 จะสถาปนากรุงศรีอยุธยาทางฝั่งตะวันตก แล้วให้ทำการขุดคลองด้านตะวันออก การขุดคลองนี้ทำให้เมืองอโยธยาทางฝั่งตะวันออกกลายเป็นพื้นที่นอกเขตเกาะเมือง (มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา, 2556)

      การย้ายเมืองมาทางด้านฝั่งตะวันตก เนื่องมาจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ดอนมากกว่าฝั่งตะวันออก และมีแม่น้ำโอบล้อมถึง 3 ด้าน โดยมีแม่น้ำลพบุรีไหลโอบทางทิศเหนือ และแม่น้ำเจ้าพระยาโอบทางทิศตะวันตก และทางทิศใต้ ซึ่งทำหน้าที่เป็นคูเมืองโดยธรรมชาติและเป็นเส้นทางคมนาคม (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2553) กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองที่มีชัยภูมิดี เป็นราชธานีที่มีความรุ่งเรืองทั้งทางสังคม วัฒนธรรม ศาสนา ศิลปะวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และเศรษฐกิจการค้าทั้งจากภายในและภายนอกราชอาณาจักร อาณาจักรอยุธยานับได้ว่าเป็นอาณาจักรที่มีความรุ่งเรืองมั่งคั่ง และมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับหลายชาติ จนถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการค้าในระดับนานาชาติทั้งชาติตะวันตกและตะวันออก

      สุจิตต์ วงษ์เทศ (2559) กล่าวว่า บทบาททางการค้าของกรุงศรีอยุธยาเสมือนเป็น “ผู้ส่งผ่าน” สินค้าจากตะวันตกไปตะวันออก และในทางกลับกันจากตะวันออกไปตะวันตก กรุงศรีอยุธยาประหนึ่งเป็นเบ้าหลอมและแสดงออกถึงพัฒนาการการสืบทอดสังคมวัฒนธรรม บ้านเมืองแห่งสุวรรณภูมิ ต่อจากอาณาจักรทวารวดี และอาณาจักรละโว้ โดยมีการคัดเลือกผสมผสาน พัฒนารูปแบบทางวัฒนธรรมจนเป็นลักษณะเฉพาะของกรุงศรีอยุธยา

      นอกจากนี้เนื่องจากเป็นเมืองที่มีชัยภูมิดี มีการเมืองเข้มแข็ง และมีเครือข่ายทางทะเล อยุธยาจึงกลายเป็นนครรัฐที่ยิ่งใหญ่และมีการแผ่ขยายอาณาเขตการปกครองออกไปอย่างกว้างไกล โดยมีประเทศราชที่แผ่ขยายไปจนถึงรัฐฉานของพม่า อาณาจักรล้านนา มณฑลยูนนานและมณฑลชานซี อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรขอม และคาบสมุทรมลายูในปัจจุบัน (รำไพ ขลิบเงิน, 2555)  กรุงศรีอยุธยาดำรงเป็นราชธานีอยู่ได้ถึง 417 ปี โดยมีกษัตริย์ปกครอง 33 พระองค์ จาก 5 ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์สุโขทัย ราชวงศ์ปราสาททอง และราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งนับเป็นราชธานีของไทยที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

      จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบรูณ์ และเหมาะสมในการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าวมาเป็นเวลาช้านาน เป็นแหล่งที่มีผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรมเข้ามาอยู่อาศัยและทำการค้า จนกระทั่งร้างลาไปหลังกรุงศรีอยุธยาสิ้นสภาพความเป็นราชธานี ใน ปี พ.ศ.2310

      อย่างไรก็ตามผู้คนก็ได้กลับเข้ามาทำกินในพื้นที่และมีการขยายตัวของพื้นที่ในการเพาะปลูกข้าว โดยเฉพาะหลังสนธิสัญญาเบาริง ในสมัยรัชกาลที่ 4  ต่อมาในภายหลังจึงมีการขุดคูคลองเพิ่มขึ้นในหลายจังหวัดในเขตภาคกลาง เพื่อส่งน้ำเข้าไปในที่ห่างไกลแม่น้ำหลัก ซึ่งรวมถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย เพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวให้มากขึ้น การทำนาปลูกข้าวในละแวกจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีการขยายตัวมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นสินค้าหลักในการส่งออกของประเทศตามนโยบายการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ จนทำให้มีอัตลักษณ์เป็นเมืองแห่งการเกษตร แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม การพัฒนาพันธุ์ข้าว การพัฒนาทางเทคโนโลยีทางการเกษตร และความผันผวนของราคาข้าว ทำให้เกษตรกรกลับหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ลูกหลานละทิ้งวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ไม่มีการสานต่ออาชีพการทำเกษตรกรรม

      ประกอบกับตั้งแต่ประมาณ ปี พ.ศ.2530 เป็นต้น ราคาที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้นมาก ทำให้เกษตรกรจำนวนมากขายที่นาทำกินให้กับนายทุน ต่อมาภายหลังได้มีพัฒนาการเป็นเขตโรงงานอุตสาหกรรมมากมายและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากความเป็นเมืองเกษตรกรรมของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงเปลี่ยนแปลงมาเป็นนิคมอุตสาหกรรมอย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน

       นอกจากนี้จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่หนึ่งที่เมื่อถึงฤดูน้ำหลากไหลมาจากภาคเหนือ น้ำจะเอ่อล้นจากแม่น้ำลำคลองเข้าพื้นที่ทุ่ง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำนาสัมพันธ์กับรอบของการผลิตในแต่ละปี แต่เนื่องจากปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าในตอนบนของประเทศ ปัญหาของการพัฒนาสู่ความเป็นสังคมเมือง และการสร้างบ้านเรือนที่กระจายตัวออกไปมากขึ้น ทำให้สภาพแวดล้อมเสียสมดุล และเกิดสภาวะน้ำท่วมที่จะไหลเข้าสู่เขตเมือง

        โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร จึงทำให้ต้องเกิดระบบการจัดการน้ำ ทั้งระบบเขื่อนชลประทานและระบบการส่งน้ำต่างๆ เพื่อการควบคุมน้ำและใช้ระบบการเกษตรอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ จึงได้เกิดโครงการแก้มลิง ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริในรัชกาลที่ 9 เพื่อการกักเก็บน้ำที่มาอย่างท่วมท้นจากภาคเหนือไว้ในทุ่งแล้วค่อยๆระบายออกไป ซึ่งโครงการนี้มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ภูมิศาสตร์ ทรัพยากร และการใช้ประโยชน์ที่ดินของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

      จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 76 กิโลเมตร ในปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งสิ้น 2,556.64 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,579,900 ไร่
สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา ไม่มีภูเขา ไม่มีป่าไม้ แต่มีแม่น้ำไหลผ่าน 4 สายที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำน้อย และมีลำคลองน้อย-ใหญ่ที่คลองธรรมชาติ 437 สายคลอง และคลองชลประทาน 626 สาย  จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีอาณาเขตส่วนใหญ่ติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้

ทิศเหนือ          ติดต่อกับจังหวัดลพบุรี จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดสระบุรี
ทิศใต้              ติดต่อกับจังหวัดปทุมธานี และจังหวัดนนทบุรี
ทิศตะวันออก   ติดต่อกับจังหวัดสระบุรี
ทิศตะวันตก     ติดต่อกับจังหวัดสุพรรณบุรี

      ในปัจจุบันจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แบ่งเขตการปกครองเป็น 16 อำเภอ (ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอนครหลวง อำเภอภาชี อำเภอบ้านแพรก อำเภอบางซ้าย อำเภอบางไทร อำเภอลาด-บัวหลวง อำเภอบางบาล อำเภอมหาราช อำเภอบางปะหัน อำเภอเสนา อำเภออุทัย อำเภอบางปะอิน อำเภอผักไห่ อำเภอท่าเรือ และอำเภอวังน้อย) มีการแบ่งเขตการปกครองท้องถิ่นจำนวนทั้งสิ้น 157 แห่ง แบ่งออกเป็น

♦ องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง
♦ เทศบาลนคร 1 แห่ง
♦ เทศบาลเมือง4 แห่ง
♦ เทศบาลตำบล 30 แห่ง
♦ องค์การบริหารส่วนตำบล121 แห่ง
♦ จำนวนหมู่บ้านทั้งสิ้น 1,559 หมู่บ้าน

      ดังที่กล่าวไปแล้ว จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีการเปลี่ยนแปลงจากเมืองเกษตรกรรมไปสู่นิคมอุตสาหกรรม   ปัจจุบันมีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งสิ้น 1,597,900 ไร่  แบ่งเป็นเนื้อที่ถือครองทางการเกษตร 1,038,448 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 63.13 ของพื้นที่ทั้งหมด มีครัวเรือนที่ประกอบอาชีพทำการเกษตร จำนวน 52,859 ครัวเรือน พืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยคั้นน้ำ มะม่วง และมีสัตว์เศรษฐกิจ ได้แก่ ไก่ สุกร โค และสัตว์น้ำจืด
ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 2,581 โรง (ศูนย์สารสนเทศโรงงานอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม, 2559) แบ่งได้เป็น 2 ส่วน

ส่วนแรก คือ นิคมอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งมีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่

♦ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน (มีพื้นที่ทั้งหมด 1,926 ไร่)
♦ นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) (มีพื้นที่ทั้งหมด 2,465 ไร่)
♦ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร (มีพื้นที่ทั้งหมด1,441 ไร่)

ส่วนที่สอง คือ เขตประกอบการอุตสาหกรรม ซึ่งมีจำนวน 2 แห่ง ได้แก่

♦ แฟคตอรี่แลนด์วังน้อย (มีพื้นที่ทั้งหมด 176 ไร่)
♦ บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) (มีพื้นที่ทั้งหมด 11,000 ไร่)

       ในส่วนกิจการอุตสาหกรรมของจังหวัดนี้ ประเภทโรงงานที่มีการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิค (218 โรงงาน) อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรกล (184 โรงงาน) อุตสาหกรรมเครื่องมืออุปกรณ์ขนส่ง (149 โรงงาน) อุตสาหกรรมอาหาร (122 โรงงาน) และอุตสาหกรรมแปรรูปโลหะ (259 โรงงาน)

เนื่องจากในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีทรัพยากรดินเป็นจำนวนมากอันเกิดจากการทับถมของตะกอนบริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่ในอดีต ดินในละแวกจังหวัดฯ จึงประกอบด้วย ดินหลายประเภท ได้แก่ ดินโคลนซึ่งพบเป็นส่วนใหญ่ ทราย และดินทรายปะปน

      ดินและทรายถือเป็นวัสดุก่อสร้างที่สำคัญ จึงมีการขุดดินและทรายในพื้นที่จังหวัดเพื่อนำมาใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก จากสถิติในปี พ.ศ.2558 จำนวนบ่อดินและบ่อทรายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีจำนวนทั้งสิ้น 69 บ่อ   โดยพบในอำเภอบางบาลมากที่สุดมีจำนวน 27 บ่อ และในอำเภอผักไห่มีจำนวนลงมา 18 บ่อ ส่วนอำเภออื่นๆมีจำนวนประปรายตั้งแต่ 0-4 บ่อ

      นอกจากนี้เนื่องจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาถือได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ สภาพแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล-อดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถจึงได้ทรงโปรดเกล้าให้มีการจัดทำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในละแวกจังหวัดหลากหลายโครงการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการศูนย์ศิลปาชีพ และโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับงานด้านการเกษตรกรรมและระบบน้ำ

ทั้งนี้มีโครงการที่สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับงานด้านการเกษตรกรรมและระบบน้ำ ได้แก่

​♦ โครงการสระเก็บน้ำพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย (มีปริมาตรในการกักเก็บ 1,209,000 ลบ.ม.)
♦ โครงการพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (มีปริมาตรในการกักเก็บ 2,003,400 ลบ.ม.)
♦ โครงการบริหารจัดการและพัฒนาพื้นที่การเกษตรเป็นพื้นที่รับน้ำนอง เพื่อการบรรเทาอุทกภัยขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามแนวพระราชดำริ หรือ “โครงการแก้มลิง” โดยพื้นที่บางส่วนในหลายอำเภออยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่ในโครงการส่วนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งโครงการส่วนนี้ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1 ล้านไร่

 

กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

      เนื่องจากนับตั้งแต่การก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่ทำให้อยุธยาเป็นทั้งชุมทางการสัญจรทางน้ำในการติดต่อกับหัวเมืองต่างๆที่อยู่แผ่นดินภายใน และเป็นเมืองท่าในการติดต่อกับต่างประเทศทางทะเล

      การค้าเหล่านี้ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีและเป็นเมืองท่าสำคัญในระดับนานาชาติและมีความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งนอกจากคนพื้นเมืองอยุธยา หรือชาวสยามแล้ว ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ ที่เป็นทั้งเชลยที่ถูกกวาดต้อน ที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารโดยสมัครใจ อาทิ และกลุ่มต่างชาติจากหลายหลายภาษาและวัฒนธรรมเข้ามาอยู่อาศัยและทำมาหากิน   ทั้งนี้จากหลักฐานของการบันทึกโดยชาวต่างชาติ จากโบราณสถาน โบราณวัตถุ ภาษาพูด ศิลปะ และวิทยาการต่างๆที่ถ่ายทอด หรือที่ตกทอดมา ทำให้เห็นถึงการเข้ามาอยู่อาศัยของชาวต่างชาติมากมาย อาทิ ลาว มอญ ขอม เวียดนาม พม่า ยวน(คำเมือง) ฝรั่งเศส โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น มุสลิม จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง โปรตุเกส สเปน ดัตช์(ฮอลันดา) และฝรั่งเศส เป็นต้น   โดยเฉพาะกลุ่มชนชาวลาว มอญ และพม่า ซึ่งโดยมากมาโดยการถูกกวาดต้อนเป็นเชลย นับเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีโดยประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรชาวสยาม (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, 2559)   อย่างไรก็ตามกลุ่มชนทั้งหมดเข้ามาอยู่อาศัยและทำการค้าในกรุงศรีอยุธยานับเป็นส่วนที่สนับสนุนการขับเคลื่อนทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจให้กรุงศรีอยุธยามีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก

      ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะสิ้นสภาพความเป็นเมืองหลวงไปแล้ว เมื่อหลังสงครามยังมีคนกรุงเก่าที่รอดชีวิตตกค้างและหลบซ่อนตัวอยู่ ก็ได้กลับมาทำมาหากินตามถิ่นที่อยู่เดิม และในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ อยุธยาก็ยังมีคนไทยเชื้อสายต่างๆ ในหลายกลุ่มอาศัยอยู่และยังรักษาเอกลักษณ์ของเผ่าพันธุ์ตนเองไว้ได้ ได้แก่ ชาวมอญ ชาวไทมุสลิม ชาวญวน ชาวลาวเวียง และชาวจีน (สำนักพิมพ์สารคดี, 2538)

ภาพ_กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดอยุธยา

เอกสารอ้างอิง
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา. 2556. “อยุธยา” สังเขปประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรม. อยุธยา: มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.
  • รำไพ ขลิบเงิน. (8 กรกฎาคม 2555). อาณาจักรอยุธยา. https://krurumpai.wordpress.com/. เข้าถึงข้อมูล เดือนพฤศจิกายน 2559.
  • วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. (27 พฤษภาคม 2559). ลาวในเมืองไทย กลุ่มชาติพันธุ์ที่คลุมเครือ. มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. http://lek-prapai.org/home/view.php?id=790. เข้าถึงข้อมูล เดือนตุลาคม 2559.
  • ศรีศักร วัลลิโภดม. 2553. กรุงศรีอยุธยาของเรา. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ: มติชน.
  • ศูนย์สารสนเทศโรงงานอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม. (25 พฤศจิกายน 2559). http://userdb.diw.go.th/results1.asp?pageno=1&provname=%BE%C3%D0%B9%A4%C3%C8%C3%D5%CD%C2%D8%B8%C2%D2. เข้าถึงข้อมูล เดือนตุลาคม 2559.
  • สำนักพิมพ์สารคดี. 2538. สารคดี เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน อยุธยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สารคดี.
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ. (8 กรกฎาคม 2559). อยุธยา ศูนย์กลางการค้านานาชาติมีตลาดน้ำ-บก, ในเมือง-นอกเมือง, ย่านการผลิต http://www.matichon.co.th/news/205555. เข้าถึงข้อมูล เดือนพฤศจิกายน 2559.