ต.บ้านป้อม อ.เมืองพระนครศรีอยุธยา

 

      ตำบลบ้านป้อมเป็น 1 ใน 21 ตำบล ในเขตการปกครองของอำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา ดังที่กล่าวไปแล้วนั้นตำบลบ้านป้อมเดิมเคยอยู่เป็นบริเวณพื้นที่เดียวกับตำบลปากกราน โดยมีชื่อว่า บริเวณป้อมปราการ ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ถูกแบ่งเขตการปกครองแยกจากกัน ตำบลบ้านป้อม ได้ชื่อว่า “บ้านป้อม” เนื่องจากในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นบริเวณที่ตั้งของป้อมค่ายที่สำคัญๆ และป้อมปืนหลายแห่ง บริเวณนี้ยังเป็นสถานที่ตั้งค่ายกองทัพของพม่า ในปี พ.ศ. 2309 โดยเฉพาะตรงบริเวณเจดีย์ศรี-สุริโยทัย เพื่อใช้เป็นที่ตั้งปืนใหญ่ยิงสู่วังหลังของกรุงศรีอยุธยา  ในปัจจุบันพื้นที่ของตำบลทั้งหมดมีโดยรวมประมาณ 15.15 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 9,466 ไร่   โดยมีอาณาเขต ดังนี้

ทิศเหนือ            ติดต่อกับตำบลบ้านใหม่  อำเภอพระนครศรีอยุธยา
ทิศใต้                ติดต่อกับตำบลปากกราน  อำเภอพระนครศรีอยุธยา
ทิศตะวันตก        ติดต่อกับตำบลบ้านกลึง อำเภอบางบาล ตำบลพระขาว อำเภอบางบาล

ภาพ_ที่ตั้งของตำบลบ้านป้อม อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา

ลักษณะภูมิประเทศของตำบลส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม อยู่บริเวณเลียบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันออก มีคลองธรรมชาติไหลผ่าน 6 สาย ได้แก่ คลองลาว คลองมะขามเทศ คลองแกลบ คลองวัดไชย คลองปากบาง และคลองวัดกุฎิ   ตำบลมีถนน 3 สายหลักตัดผ่าน คือ ถนนสาย 347 และถนนสาย 3412 และถนนสาย 3263   ถนนเหล่านี้เอื้อให้ชุมชนสามารถเชื่อมโยงกับท้องที่อื่นๆได้อย่างสะดวก   อย่างไรก็ตามพื้นที่ตำบลหลายส่วนโดยเฉพาะที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีความเสียงที่จะเกิดอุทกภัยและน้ำท่วมขังในช่วงฤดูน้ำหลาก

      ตำบลบ้านป้อมมีพื้นที่ความรับผิดชอบ จำนวน 11 หมู่บ้าน จำนวนครัวเรือนรวมทั้งสิ้น 2,407 ครัวเรือน บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ยกพื้นสูง เกาะกลุ่มกันของเครือญาติ กระจายตัวตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองต่างๆ และถนนในตำบล บ้านเรือนจำนวนมากยังคงเป็นเรือนไทยที่มีมาตั้งแต่ในอดีตและได้มีการปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือนที่ปลูกสร้างในรูปแบบสมัยใหม่อยู่อีกด้วย

      ในตำบลมีจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น 7,050 คน เป็นชาย 3,371 คน และหญิง 3,679 คน  ประชากรนับถือ 2 ศาสนาหลัก คือ ศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลาม ส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ โดยในพื้นที่ตำบล ประกอบด้วย วัด จำนวน 13 วัด ซึ่งวัดที่สำคัญที่นักท่องเที่ยวมักมาแวะเยี่ยมชม คือ วัดไชยวัฒนาราม และวัดกษัตราธิราชวรวิหาร และมัสยิด 1 แห่ง ในพื้นที่ตำบลมีโรงเรียนวัด 3 แห่ง และมีโรงเรียนสำหรับชาวมุสลิมอีก 1 แห่ง ทั้งนี้ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพโดยมีลำดับตามจำนวนปริมาณจากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ดังนี้ อาชีพรับจ้าง ทำงานโรงงาน ค้าขาย ทำนา ทำการเกษตร รับราชการ และทำธุรกิจส่วนตัว

       ส่วนหมู่ 1 และหมู่ 2 บ้านมะขามเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มุ่งเน้นสำหรับการศึกษาในครั้งนี้นั้น เป็นชุมชนที่มีจำนวนครัวเรือนรวม 315 หลังคาเรือน และมีประชากรรวม 873 คน บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านเรือนไทยยกพื้นสูงและเคยอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่บ้านเรือนส่วนใหญ่ถูกให้โยกย้ายถิ่นฐานที่ตั้ง หรือเวนคืนที่ดิน มาอยู่ ณ พื้นที่ปัจจุบัน ซึ่งเดิมเคยเป็นพื้นที่ป่าต้นสะแก ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2515   ทั้งนี้เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องการพื้นที่ของชุมชนในบริเวณนี้เพื่อการจัดสถานีสูบน้ำ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล (สำนักงานชลประทานที่ 10)  แม้ว่าจะมีการย้ายถิ่นฐาน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังคงเก็บรักษาเรือนไทยเดิมของครอบครัว แต่มีการต่อขยายและปรับปรุงเพิ่มเติมไปด้วยในคราวเดียวกัน