ต.ปากกราน อ.เมืองพระนครศรีอยุธยา

ข้อมูลของชุมชนตำบลปากกราน อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

      ตำบลปากกราน เป็น 1 ใน 21 ตำบล ในเขตการปกครองของอำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา (แยกเป็นตำบลที่อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 15 ตำบล และตำบลที่อยู่ในเขตเทศบาล 6 ตำบล) พื้นที่ตำบลตั้งอยู่ทางด้านใต้ฝั่งตะวันตกของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ถัดลงมาจากวัดไชยวัฒนาราม โดยห่างจากที่ว่าการอำเภอพระนครศรีอยุธยาประมาณ 7 กิโลเมตร ในปัจจุบันพื้นที่ของตำบลทั้งหมดมีประมาณ 22.5 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 14,018.75 ไร่   โดยมีอาณาเขต ดังนี้

ทิศเหนือ          ติดต่อกับตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา
ทิศใต้              ติดต่อกับตำบลคลองตะเคียน อำเภอพระนครศรีอยุธยา
ทิศตะวันออก    ติดต่อกับตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา
ทิศตะวันตก      ติดต่อกับตำบลบ้านกลึง อำเภอบางไทร

      ลักษณะภูมิประเทศของตำบลปากกรานเป็นพื้นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การทำการเกษตร มีแม่น้ำเจ้าพระยาและลำคลองสำหรับส่งน้ำรวม 10 สาย ไหลผ่านบริเวณชุมชน ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา (ไหลผ่านหมู่ 14) คลองตะเคียน (ไหลผ่านหมู่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 11, 12, 13 และ 14) คลองปากกราน (ไหลผ่านหมู่ 7, 8, 9 และ 10) คลองบางกระชา (ไหลผ่านหมู่ 3 และ 5) คลองวัว คลองลาวและคลองอีบาง (ไหลผ่านหมู่ 10) คลองบางกะนาค (ไหลผ่านหมู่ 5 และ 8) คลองวัดช้าง (ไหลผ่านหมู่ 1) และคลองขวาง (ไหลผ่านหมู่ 9 และ 10)    ทั้งนี้คลองตะเคียนเป็นลำน้ำที่ไหลผ่านบริเวณพื้นที่ชุมชนมากที่สุด รองลงมา คือ คลองปากกราน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม บางส่วนเป็นพื้นที่อยู่อาศัย และพาณิชยกรรม   พื้นที่ตำบลมีถนน 2 สายหลักตัดผ่าน คือ ถนนสาย 347 และถนนสาย 3469   ถนนสาย 3469 นี้เป็นเส้นที่ตัดผ่านละแวกที่ตั้งบ้านเรือนส่วนใหญ่ของชาวบ้านในชุมชนเพื่อต่อเชื่อมกับทางหลวงสายเอเชีย 32 และเมืองอยุธยา แม้ว่าพื้นที่ตำบลจะอยู่ในเขตเมือง แต่ก็มีความเสียงที่จะเกิดอุทกภัยและน้ำท่วมขังในช่วงฤดูน้ำหลาก

      จากเอกสารบันทึกของชุมชน สมัยกรุงศรีอยุธยาบริเวณตำบลปากกรานและตำบลบ้านป้อมนับเป็นพื้นที่เดียวกัน โดยพื้นที่บริเวณนี้ถูกเรียกว่า  “ป้อมปราการ” ทางทิศตะวันตกของกรุงศรีอยุธยา ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา   เนื่องจากในอดีตพม่ามักยกทัพมาทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมาจากทางด้านจังหวัดระนอง และจังหวัดกาญจนบุรี ผ่านด่านเจดีย์สามองค์  พื้นที่บริเวณนี้จึงมีความสำคัญทำหน้าที่เพื่อเป็นเขตพื้นที่ในการป้องกัน และเป็นพื้นที่สำหรับเสาะหาข่าวต่างๆเกี่ยวกับข้าศึกโดยเฉพาะพม่า เพื่อรายงานเข้าสู่เมืองหลวง แม้ว่าพม่าจะมีการยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาผ่านทางด้านนี้บ่อยครั้ง แต่มักไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าตีกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากไม่สามารถผ่านบริเวณป้อมปราการนี้ได้   อย่างไรก็ตามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้โปรดให้มีการปกครองในแบ่งส่วนการปกครองเป็นตำบล โดยมีกำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ปกครอง จึงทำให้มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นตำบลบ้านป้อม และตำบลปากกราน ทั้งนี้ตำบลปากกราน หรือบ้านปากกราน เดิมชื่อว่า “บ้านปราการ” แต่ถูกเรียกเพี้ยนกันมาว่า “บ้านปากกราน” และใช้เรียกชื่อนี้กันมาจนปัจจุบัน

ตำบลปากกราน มีการแบ่งการออกเป็น 14 หมู่บ้าน จำนวน 1,521 ครัวเรือน   บ้านเรือนส่วนใหญ่มักปลูกสร้างเป็นกลุ่มเรือนเครือญาติ  และกระจายตัวอยู่มากที่สุดบริเวณคลองตะเคียน และบางส่วนตามลำ-คลองสายย่อยต่างๆ   ลักษณะของบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ยกพื้นสูง โดยมากเป็นเรือนไทยที่มีมาตั้งแต่ในอดีตที่ได้การปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือนที่ปลูกสร้างในรูปแบบในสมัยใหม่อยู่ประปรายอีกด้วย


ภาพ_บ้านเรือนในตำบลปากกราน อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา

       ตำบลปากกรานมีจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น 5,834 คน แบ่งเป็นชาย 2,812 คน และหญิง 3,022 คน  การนับถือศาสนาของประชากรในตำบลมี 2 ศาสนาหลัก คือ ศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลาม ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธส่วนใหญ่เป็นชาวสยามหรือคนพื้นเมืองอยุธยา สืบเชื้อสายบรรพบุรุษมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนชาวมุสลิมเป็นกลุ่มแขกตานี ที่มาจากหัวเมืองปัตตานีและแหลมมาลายู ที่เข้ามาอยู่อาศัยและทำการค้าในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย บริเวณตำบลจึงมีวัดจำนวน 4 วัด และมัสยิดจำนวน 6 มัสยิด   นอกจากนี้ยังมี ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลปากกราน สถานีอนามัยของตำบล มีโรงเรียน 5 โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 5 แห่ง

เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นแบบกึ่งเมืองกึ่งชนบท ชาวบ้านในตำบลจึงประกอบอาชีพหลากหลาย ซึ่งมีทั้งอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงปศุสัตว์ อาชีพค้าขาย รับจ้างทั่วไป และรับราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ   อย่างไรก็ตามชาวบ้านมักยังคงไปมาหาสู่กันตามบ้านเรือนชุมชน และผู้ที่เป็นชาวพุทธส่วนใหญ่มักรวมตัวกันที่วัดในวันสำคัญทางศาสนาต่างๆ ส่วนชาวมุสลิมก็จะมีพิธีกรรมทางศาสนาทุกวันและวันสำคัญทางศาสนาที่มัสยิดตามช่วงวันเวลาต่างๆ