เกี่ยวกับโครงการ

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

 

        บ้านเรือนและชุมชนพื้นถิ่นซึ่งโดยมากตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบทนับเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่สำคัญประเภทหนึ่ง (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2549) ที่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งถิ่นฐานและมีพัฒนาการทางสภาพแวดล้อม สังคม การปกครอง วัฒนธรรม และเศรษฐกิจที่มีรูปแบบเฉพาะเป็นของแต่ละท้องถิ่น   บ้านเรือนและชุมชนพื้นถิ่นเหล่านี้นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชนในแต่ละท้องที่ และตามแต่ละช่วงเวลาแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาในการอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อม รวมถึงการใช้ทรัพยากรและและเทคโนโลยีในการก่อสร้างได้อย่างเหมาะสม   บ้านเรือนพื้นถิ่นและภูมิทัศน์โดยรอบในแต่ละชุมชนนับเป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่า (ธนิก เลิศชาญฤทธ์, 2554) ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ตกทอดสู่คนรุ่นต่อๆ มาโดยลำดับ (วีระ อินพันทัง, 2553:11-12) และมักมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ (Oliver, 1969; 2003; Pinijvarasin 2008)   แต่เนื่องจากการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมของประเทศไทย มีผลทำให้ค่านิยมการอยู่อาศัยของผู้คนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป และหันไปให้ความสำคัญต่อกระแสวัฒนธรรมใหม่หรือกระแสนิยมความทันสมัยมากกว่าภูมิปัญญาการอยู่อาศัยแบบดั้งเดิมของท้องถิ่นของตน   การเป็นอยู่ในลักษณะดั้งเดิมถูกมองเป็นเรื่องล้าสมัยและไม่เหมาะสมกับวิถีความเป็นอยู่ในยุคสมัยปัจจุบัน   การเปลี่ยนแปลงค่านิยมการอยู่อาศัยของผู้คนในสังคมเหล่านี้มีผลทำให้เรือนและชุมชนพื้นถิ่นที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมลดลงไปเป็นจำนวนมากในหลายท้องถิ่น   ในหลายกรณีมักถูกรื้อถอนและถูกแทนที่ด้วยปลูกสร้างด้วยบ้านเรือนพักอาศัยที่มีลักษณะและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่พบได้ในเขตเมืองโดยทั่วไป   อนึ่งลักษณะของที่ว่างทางสถาปัตยกรรมนับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเงื่อนไขต่อการประพฤติปฏิบัติตนและมีผลต่อการรับรู้ ความคิด และความเชื่อของผู้คนในสังคมนั้นๆได้ และทั้งสามส่วนนี้มีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องที่มีผลต่อกันและกัน (Reflective relation) ซึ่งหากมีปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเปลี่ยนก็ย่อมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยอื่นๆตามไปด้วย (Rapoport, 1982)   ทั้งนี้บ้านและเรือนพื้นถิ่นของไทย โดยเฉพาะในภูมิภาคภาคกลาง นับเป็นส่วนที่เอื้อให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social interaction) อันดีทั้งในระดับครอบครัว เครือญาติ และชุมชน (Pinijvarasin, 2008)   ดังนั้นการหายไปของบ้านเรือนพื้นถิ่นนอกจากจะทำให้เกิดสูญเสียอัตลักษณ์ของท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นไปได้อีกด้วย

.      จากการที่การเคหะแห่งชาติ โดยฝ่ายวิชาการพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้ตระหนักถึงคุณค่าของ
ภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษด้านการสร้างที่อยู่อาศัย เป็นสถาปัตยกรรมที่สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ตลอดจนบ่งบอกถึงวิวัฒนาการของรูปแบบที่อยู่อาศัยและวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างเรือนที่แตกต่างกันตามยุคสมัยตามสภาพพื้นที่และวัฒนธรรม และเป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่าทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ที่หลากหลาย   แต่กำลังถูกผลกระทบจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีการก่อสร้างที่พัฒนาไปใช้วัสดุก่อสร้างในระบบอุตสาหกรรม ทำให้สามารถก่อสร้างที่อยู่อาศัยในรูปแบบเดียวกันจำนวนมากในเวลารวดเร็ว เกิดปัญหาด้านรูปแบบและเอกลักษณ์ของที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งกระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศให้เรือนไทยพื้นบ้านดั้งเดิมเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมปี 2554 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2554 จึงเห็นความจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพื่อรวบรวมองค์ความรู้รูปแบบที่อยู่อาศัยและวิถีการอยู่อาศัยของคนไทย มาจัดการความรู้ ประมวลเป็นชุดองค์ความรู้แล้วผลิตเป็นสื่อในรูปแบบต่างๆเผยแพร่ให้สาธารณชนได้เรียนรู้ และนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อสืบสานภูมิปัญญาให้คงอยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป   ทั้งนี้มีการดำเนินงานในลักษณะโครงการวิจัยภายใต้การสนับสนุนสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ ของเรือนพื้นถิ่น ทั้งในด้านวิวัฒนาการของเรือน คติความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีความเป็นอยู่ และสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ที่สะท้อนเป็นอัตลักษณ์ของเรือนพื้นถิ่น   โดยมีการดำเนินโครงการใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้   ทั้งนี้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมดำเนินโครงการวิจัย โดยมีพื้นที่ศึกษาในภาคกลางตอนล่าง โดยเลือกจังหวัดเพชรบุรี โดยเฉพาะในบริเวณอำเภอบ้านลาดเป็นกรณีศึกษา (วันดี พินิจวรสิน และคนอื่นๆ, 2557)

.      ผลการศึกษานอกจากจะทำให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของเรือนและชุมชน องค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาที่เกิดจากการอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมในเรือนไทยเมืองเพชร และการดำเนินชีวิตในลักษณะของความพอเพียงของชาวบ้านที่เป็นกรณีศึกษาแล้ว   ยังมีการจัดทำเป็นฐานข้อมูลด้านสถาปัตยกรรม ลักษณะการอยู่อาศัย และการจัดทำชุดข้อมูลสื่อสารสนเทศที่สามารถเผยแพร่สู่สาธารณะในหลายรูปแบบทั้งสื่อวีดีทัศน์ หนังสืออิเลคทรอนิคส์ เว็บไซต์ และ Facebook page ผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต   นอกจากนี้ผลของการดำเนินการศึกษาวิจัยได้ถูกนำไปเผยแพร่ผ่านการจัดการประชุมวิชาการและนิทรรศการระดับชาติ เรื่อง “การจัดการความรู้เรื่องที่อยู่อาศัย และวิถีการอยู่อาศัยผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่น: สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่อยู่อาศัย 4 ภาค” เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 อีกด้วย   ผลของการจัดประชุมในครั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้ความเห็นว่า แม้ว่าในปัจจุบันบ้านเรือนและชุมชนพื้นถิ่นจะมีจำนวนลดลงอย่างมาก แต่ก็ยังมีจำนวนไม่น้อยที่ยังคงดำรงอยู่และยังสามารถสะท้อนความสำคัญของท้องถิ่นที่สัมพันธ์ไปกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป   ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆของเรือนและชุมชนพื้นถิ่นเหล่านี้ให้ต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะในภูมิภาคภาคกลาง   แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการศึกษาเรือนไทยพื้นถิ่นในแถบภูมิภาคภาคกลางอย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังคงมีเรือนไทยพื้นถิ่นในอีกหลายท้องถิ่นของภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใกล้ศูนย์กลางการพัฒนา มีความเสี่ยงต่อการสูญหายและแปรเปลี่ยนได้มาก และสมควรได้รับการศึกษาค้นคว้าในแง่มุมนิเวศวิทยาวัฒนธรรม ตลอดจนการประมวลข้อมูลและจัดทำเป็นชุดความรู้เพื่อการเผยแพร่ต่อไป

.      อย่างไรก็ตามนอกจากการดำเนินศึกษาวิจัยเพื่อการจัดการความรู้เรื่องที่อยู่อาศัยและวิถีการอยู่อาศัยผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่นของ 4 ภูมิภาคแล้ว   ฝ่ายวิชาการพัฒนาที่อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติยังได้มีการดำเนินการให้มีการจัดทำสื่อ Animation ในลักษณะพิพิธภัณฑ์เสมือน (Virtual Museum) เพื่อบอกเล่าเรื่องราว คุณค่าและภูมิปัญญาเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย และการอยู่อาศัยของผู้คนในท้องถิ่นต่างๆเพื่อการเผยแพร่ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต   ดังนั้นเพื่อให้เกิดความสอดคล้องของการรวบรวมองค์รู้ จึงควรมีการนำสื่อสารสนเทศชุดองค์ความรู้เกี่ยวกับเรือนและชุมชนพื้นถิ่นในจังหวัดเพชรบุรีมาพัฒนาต่อยอดรูปแบบของการจัดสื่อ Animation ในลักษณะพิพิธภัณฑ์เสมือนเช่นกัน   พร้อมไปกับการขยายฐานการศึกษาวิจัยของเรือนและชุมชนพื้นถิ่นในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่นอกจากจะเพื่อค้นหาอัตลักษณ์และภูมิปัญญาผ่านสถาปัตยกรรมและวิถีการอยู่อาศัยของท้องถิ่น และการจัดทำฐานข้อมูลเป็นชุดองค์ความรู้สื่อสารสนเทศแล้ว ยังเพื่อเป็นการจัดทำพิพิธภัณฑ์เสมือนที่สามารถเผยแพร่ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตร่วมด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าชมเกิดความสนใจ ติดตาม หรือสืบค้น ในขณะเดียวกันได้รับความรู้ความเข้าใจ อันจะนำสู่การเห็นคุณค่าความสำคัญของภูมิปัญญาด้านที่อยู่อาศัยและวิถีชีวิตของท้องถิ่น และเกิดการสืบสานการอนุรักษ์คุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของประเทศเหล่านี้ให้คงอยู่สืบไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
  1. เพื่อสำรวจและรวบรวมข้อมูลที่อยู่อาศัยและวิถีชีวิตการอยู่อาศัยในทุกมิติ ในพื้นที่ศึกษาบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
  2. เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของลักษณะทางกายภาพของและมิติทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาจากการปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นที่ศึกษา
  3. เพื่อจัดการความรู้เรื่องที่อยู่อาศัยและวิถีชีวิตการอยู่อาศัยด้านมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นในมิติของชาติพันธุ์ การตั้งถิ่นฐาน สถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรม โดยสร้างสรรค์สื่อเป็นชุดองค์ความรู้อย่างเป็นรูปธรรมของท้องถิ่นที่ศึกษา
  4. เพื่อสำรวจจัดเก็บข้อมูลที่อยู่อาศัยของครัวเรือนหรือที่อยู่อาศัย และองค์ประกอบอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลในระบบภูมิสารสนเทศของท้องถิ่นที่ศึกษา
  5. เพื่อศึกษาแนวทางการสร้างเครือข่ายโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา เพื่อเป็นเครือข่ายการเชื่อมโยงข้อมูลสำหรับเผยแพร่ความรู้แบบบูรณาการที่ครบวงจร
  6. เพื่อจัดทำสื่อมัลติมีเดีย (Multimedia) และเว็บเพจ (Webpage) ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์เสมือน (Virtual Museum) สำหรับเผยแพร่ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของเรือนและชุมชนพื้นถิ่นในท้องถิ่นที่ทำการศึกษา
ขอบเขตของงาน และวิธีการดำเนินงาน

ขอบเขตด้านเนื้อหา

เนื้อหาด้านสถาปัตยกรรม ศึกษา สำรวจ เก็บข้อมูลรูปแบบที่อยู่อาศัยแบบประเพณีและวิถีการอยู่อาศัยในทุกมิติ จำนวน 31 หลัง ในจำนวนนี้คัดเลือกเรือนเพื่อจัดทำสื่อสารสนเทศ บันทึกลงระบบฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ และเขียนแบบทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ จำนวน 5 หลัง และเฉพาะแบบ 2 มิติ จำนวน 10 หลัง รวม 15 หลัง

เนื้อหาด้านสื่อสารสนเทศ จัดทำเป็นสื่อชุดองค์ความรู้ และสารสนเทศแบบออนไลน์หรือเว็บไซต์ เพื่อการเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยแสดงข้อมูลชุมชนที่ทำการศึกษา องค์ความรู้เกี่ยวกับเรือนทั้ง 15 หลัง วีดีทัศน์ 3 เรื่อง รายงานวิจัยในรูปแบบ EBook และการจัดทำสื่อในรูปแบบของ Game animation และพิพิธภัณฑ์เสมือน

​ขอบเขตด้านพื้นที่ศึกษา

การศึกษานี้พิจารณาเลือกพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่กรณีศึกษา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่ในอดีต มีเอกลักษณ์ที่มีความโดดเด่น นับเป็นตัวแทนทางศิลปะสถาปัตยกรรมเรือนไทยของภาคกลาง โดยพิจารณาเลือกพื้นที่ศึกษาใน 3 พื้นที่ 4 ชุมชน ได้แก่

พื้นที่ที่ 1   บ้านเรือนที่ยังคงลักษณะไทยในพื้นที่ที่ยังคงมีลักษณะสภาพแวดล้อมแบบสะเทินน้ำสะเทินบก (พื้นที่แก้มลิงธรรมชาติ) มีพื้นที่ศึกษาในบริเวณชุมชนบ้านลาดชะโด อำเภอผักไห่

พื้นที่ที่ 2   ชุมชนที่มีบ้านเรือนที่ยังคงลักษณะไทยในพื้นที่ที่มีการควบคุมไม่ให้เกิดสภาวะน้ำท่วม
ในเขตชนบทห่างไกล: พื้นที่ศึกษาในบริเวณชุมชน ตำบลบ้านใหม่ อำเภอมหาราช
ในเขตเมือง:               พื้นที่ศึกษาในบริเวณชุมชน ตำบลปากกราน อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา

พื้นที่ที่ 3  บ้านเรือนที่ยังคงลักษณะไทยในพื้นที่ที่ที่ถูกทำให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐาน มีพื้นที่ศึกษาในบริเวณชุมชนหมู่ 1 และ 2 ตำบลบ้านป้อม อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา

วิธีการดำเนินงาน

ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเสนอวิธีการดำเนินงานโดยละเอียดและแผนการดำเนินงานประกอบอย่างละเอียด โดยจะต้องครอบคลุมประเด็นต่างๆ ดังนี้

  1. ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
  2. ศึกษาและรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น จากหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง เอกสารหลักฐานต่างๆ และเอกสารทางวิชาการอื่นๆที่เกี่ยวเนื่อง
  3. ศึกษาและสำรวจสภาพกายภาพของที่อยู่อาศัย สภาพสังคม วัฒนธรรม และภูมิปัญญาในพื้นที่ศึกษา
  4. สำรวจ สัมภาษณ์ เก็บรวบรวมข้อมูลเรือนพื้นถิ่นที่มีรูปแบบเรือนไทย ที่มีอยู่ในปัจจุบันในพื้นที่ศึกษา  จำแนกรูปแบบสถาปัตยกรรม และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของลักษณะทางสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิต รวมถึงปัจจัยอื่นที่มีผลต่อลักษณะทางสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิต
  5. รวบรวมองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับการปลูกสร้างซ่อมแซมและการเปลี่ยนแปลงของเรือนพื้นถิ่นที่มีรูปแบบเรือนไทยในพื้นที่ศึกษา โดยแยกเป็นองค์ความรู้ด้านความมั่นคงของตัวบ้าน วิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณี
  6. สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม โดยจัดประชุมรับฟังและระดมความคิดเห็นกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ประชาชน องค์กรท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
  7. จัดทำสื่อวีดีทัศน์ หรือสื่อ Animation ที่แสดงกระบวนการปฏิบัติงานต่างๆ ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงานจนสิ้นสุดกระบวนการวิจัย เช่น การสำรวจภาคสนาม การประชุมรับฟังความคิดเห็น การประชุมสัมมนา เป็นต้น สำหรับเผยแพร่ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์
  8. จัดทำมัลติมีเดีย (Multimedia) และเว็บเพจ (Webpage) ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์เสมือน (Virtual museum) รวมถึงการจัดทำสื่อในรูปแบบของ Game animation แบบ Interactive ที่สะท้อนคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม เอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยคัดเลือกรูปแบบที่โดดเด่นในเอกลักษณ์ เพื่อจัดทำเป็นเกมสร้างสรรค์ อย่างน้อย 1 รูปแบบ สำหรับเผยแพร่ระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
  9. จัดประชุมสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัย
  10. วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำรายงาน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
  1. ข้อมูลและความรู้ด้านรูปแบบที่อยู่อาศัยและวิถีการอยู่อาศัยของคนไทย ซึ่งรวบรวมศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมและเอกลักษณ์ของชาติที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น
  2. ข้อมูลสารสนเทศรูปแบบที่อยู่อาศัยและวิถีการอยู่อาศัยของคนไทย เพื่อประโยชน์ในการใช้ต่อยอดองค์ความรู้ในการวิจัยต่อไป
  3. สื่อสำหรับเผยแพร่ความรู้รูปแบบที่อยู่อาศัยและวิถีการอยู่อาศัยของคนไทย เผยแพร่ให้แก่หน่วยงาน สถาบันการศึกษา นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจ
  4. แนวทางในการเผยแพร่องค์ความรู้ โดยใช้เครือข่ายเชื่อมต่อกับพื้นที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้
ผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัย
  1. ส่งเสริมให้มีการจัดการองค์ความรู้ด้านเทคนิคงานช่างในการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างกว้างขวาง และจัดทำเป็นสื่อสารสนเทศเพื่อการเผยแพร่สู่สาธารณะ
  2. ส่งเสริมการประยุกต์การใช้เทคนิคงานช่างในการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างความตระหนักเพื่อให้เกิดการกระตุ้นในการนำเทคนิคงานช่างที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ มาสร้างนวัตกรรมออกสู่สังคมในวงกว้าง
  3. การนำข้อมูลแบบเรือนที่ได้จากการสำรวจไปต่อยอดสำหรับจัดทำเป็นแบบบ้านสำหรับประชาชนในพื้นที่โดยหน่วยงานท้องถิ่น

 

เอกสารอ้างอิง

  • ธนิก เลิศชาญฤทธ์. 2554. การจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน).
  • วันดี พินิจวรสิน, จตุพล อังศุเวช และสุภางค์กร พนมฤทธิ์. 2557. การจัดการความรู้เรื่องที่อยู่อาศัยผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่น (พื้นที่ภาคกลาง): กรณีศึกษา เรือนไทยพื้นถิ่นเมืองเพชรบุรี. ในรายงานการประชุมวิชาการและนิทรรศการระดับชาติ เรื่อง การจัดการความรู้เรื่องที่อยู่อาศัย และวิถีการอยู่อาศัยผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่น: สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่อยู่อาศัย 4 ภาค. วันที่ 22 สิงหาคม 2557. กรุงเทพฯ: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 80-129.
  • วีระ อินพันทัง. 2553. ความหลากหลายทางวัฒนธรรมการปลูกสร้างเรือนไทยแห่งลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี, วิทยานิพนธ์ ปริญญาดุษฎีบัณฑิต (สิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  • สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2549. แนวทางการจัดการภูมิทัศน์วัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พลับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
  • Oliver, P. 1969. Primitive dwelling and vernacular architecture. Shelter and society. (ed. P. Oliver). London: Barries & Jenkins. pp. 7–12.
  • Oliver, P. 2003. Dwellings: The vernacular house world wide. London: Phaidon.
  • Pinijvarasin, W. 2008. Experiences of Well-being in Thai Vernacular Houses. Saarbrucken: VDM Verlag Dr. Muller.
  • Rapoport, A. 1982. The meaning of the built environment: A nonverbal communication approach, Beverly Hills: Sage Publications.