เทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่

“ลาดชะโดแดนทำหรีด  อดีตแหล่งรวมปลา  เสาศาลาวัดต้นใหญ่
ภาพยนตร์ไทยมาถ่ายทำ  งามล้ำด้วยสถาปัตยกรรม”
คำขวัญของเทศบาลตำบลลาดชะโด

 

      เทศบาลตำบลลาดชะโด เป็น 1 ใน 10 เขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอำเภอผักไห่ โดยห่างจากเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาประมาณ 40 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 37 ตารางกิโลเมตร โดยมีอาณาเขต ดังนี้

ทิศเหนือ          ติดต่อกับอำเภอวิเศษชัยชาญ
ทิศใต้               ติดต่อกับอำเภอเสนา และอำเภอบางซ้าย
ทิศตะวันออก     ติดต่อกับอำเภอบางบาล
ทิศตะวันตก       ติดต่อกับอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี


ภาพ_ที่ตั้งของชุมชนบ้านลาดชะโด อำเภอผักไห่
ที่มา: ปรับปรุงจาก http://www.ayutthaya.go.th/16/pukhai/ph_map.html

      ภูมิประเทศโดยทั่วไปของพื้นที่ในเขตปกครองของเทศบาลตำบลลาดชะโดเป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำ ในหลายส่วนของพื้นที่มีน้ำหลากในฤดูฝน หรือเป็นพื้นที่แก้มลิงตามธรรมชาติ ทั้งนี้พื้นที่ในเขตการปกครองของเทศบาลประกอบด้วย 2 ตำบล 17 หมู่บ้าน คือ ตำบลหนองน้ำใหญ่ (หมู่ 1-11) และตำบลจักราช (หมู่ 1-6)   โดยมีคลองบางคลี่ (หรือคลองลาดชะโด) ซึ่งเป็นคลองสาขาที่แยกออกมาจากแม่น้ำน้อย จากปากคลองบางคลี่ ลัดไปออกจังหวัดสุพรรณบุรีและแม่น้ำท่าจีนได้ เป็นแนวแบ่งกั้นระหว่างตำบลจักราช และตำบลหนอง-น้ำใหญ่  คลองบางคลี่ที่ไหลผ่านบริเวณชุมชนนี้ ชาวบ้านมักเรียกว่า คลองลาดชะโด ซึ่งเป็นเรียกตามปลาชะโดที่มีชุกชุมในลำคลอง   พื้นที่บริเวณชุมชนจึงถูกเรียกว่า บ้านลาดชะโด” ไปด้วย   ในอดีตการสัญจรของชาวบ้านในชุมชนใช้คลองลาดชะโดเป็นเส้นทางหลัก และบ้านเรือนส่วนใหญ่ของทั้ง 2 ตำบล มักปลูกสร้างและเกาะกลุ่มกันบริเวณริมคลองนี้ด้วย   ภายหลังต่อมาจึงมีการพัฒนาระบบโครงข่ายถนนโดยรอบบริเวณชุมชน โดยในปัจจุบันชุมชนมีถนนสุพรรณบุรี-ผักไห่ เป็นเส้นทางหลักในการเชื่อมต่อกับถนนโครงข่ายอื่นๆ

      การตั้งถิ่นฐานของชุมชนบ้านลาดชะโดถูกสันนิษฐานกันว่าน่าจะมีมาตั้งแต่หลังกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงให้แก่พม่าเมื่อปี พ.ศ. 2310 โดยชาวกรุงเก่าที่หลบหนีมาจากศึกสงคราม ผู้คนที่มาตั้งถิ่นฐานที่นี่เมื่อครั้งนั้นน่าจะเป็นคนไทยเชื้อสายรามัญ (หรือมอญ)ซึ่งมีการสันนิษฐานมาจากการที่เคยมีเสาหงส์ปรากฏอยู่หน้าวัดลาดชะโด (ปัจจุบันได้หายไปแล้ว) และจากการนับถือผีหม้อ หรือผีตายาย ซึ่งเป็นหุ่นปั้นใส่หม้อดิน ที่แขวนไว้ตามเสาเรือนของบ้านเกือบทุกหลังในอดีต (นณณ์ ผาณิตวงศ์, 2550)   อีกทั้งในอดีตบ้านเรือนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นบ้านเรือนทรงไทยและเรือนเหล่านี้มักมีการวางเรือนประธานในแนวขวางกับทิศทางของน้ำ (วันดี พินิจวรสิน, 2550) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่แสดงถึงความเป็นเรือนของคนมอญ (ฤทัย ใจจงรัก, 2539)

การตั้งบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นการเกาะกลุ่มกันของเครือญาติและขยายตัวอยู่บริเวณริมลำคลองลาดชะโด  มีความหนาแน่น จนได้รับการขนานนามว่า “หมู่บ้านไก่บินไม่ตก” นอกจากนี้เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มและมีน้ำหลากในบริเวณชุมชนทุกปี นอกจากบ้านเรือนจะมีการยกพื้นสูงเกือบทุกหลังแล้ว ชุมชนยังมีการพัฒนาระบบสะพาน (ทั้งสะพานไม้และคอนกรีต) สำหรับใช้เป็นทางสัญจรเชื่อมโยงภายในระหว่างบ้านแต่ละหลัง   การพัฒนาเส้นทางสัญจรด้วยระบบสะพานมีส่วนทำให้เกิดความสะดวกในการดำเนินชีวิตของชาวบ้านในทุกฤดูกาลและทำให้ชุมชนมีอัตลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างจากชุมชนอื่นๆอีกด้วย (วันดี พินิจวรสิน, 2550)   แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีการพัฒนาระบบถนนบริเวณโดยรอบชุมชน จึงมีการพัฒนาและสร้างถนนเข้าไปในพื้นที่ของชุมชนบางส่วน เพื่อให้เกิดความสะดวกในการสัญจรมากยิ่งขึ้น ซึ่งเริ่มต้นเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้

      นอกจากบ้านเรือนพักอาศัยซึ่งเป็นส่วนใหญ่แล้ว ยังมีองค์ประกอบชุมชนที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ วัดลาดชะโด วัดจักราช โรงเรียนวัดลาดชะโด (ประกาศวิทยาคาร ซึ่งรับนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6) โรงเรียนลาดชะโดสามัคคี (รับเฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมต้น-ปลาย) ตลาดลาดชะโด อาคารสำนักงานเทศบาลตำบลลาดชะโด สถานีอนามัย สถานีตำรวจ และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กตั้งอยู่ประปรายในบริเวณชุมชน

       ตำบลหนองน้ำใหญ่ และตำบลจักราช (ทั้ง 17 หมู่บ้าน) ประกอบด้วย 10,783 หลังคาเรือน มีจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น 31,019 คน โดยแยกเป็นชาย 14,812 คน และหญิง 16,207 คน   แม้ว่าจากหลักฐานต่างๆที่กล่าวถึงประชากรดั้งเดิมเป็นชาวไทยเชื้อสายมอญ แต่ในปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ระบุเพียงเป็นคนไทย ที่กระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณพื้นที่ชุมชน โดยไม่กล่าวถึงการเป็นประชากรชาวไทยเชื้อสายมอญ   นอกจากนี้ภายในชุมชนยังมีคนไทยเชื้อสายจีนซึ่งอพยพเข้ามาอยู่ในชุมชนเมื่อประมาณ 100 กว่าปีมาแล้ว   ชาวไทยเสื้อสายจีนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีบ้านเรือนอยู่บริเวณตลาดลาดชะโด

      ในอดีตชุมชนลาดชะโดเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ผูกพันธุ์กับคลองลาดชะโด ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการประมง และมีความคับคั่งทางการค้า เนื่องจากมีตลาดลาดชะโดซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าขายทางน้ำและจุดแวะพักเรือที่สำคัญแห่งหนึ่งของการเดินทางทางน้ำในภาคกลาง   แต่ในปัจจุบันการทำอาชีพเกษตรกรรมมีจำนวนน้อยลงอย่างมาก (คิดเป็นร้อยละ 7.70)   ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่หลากหลาย (คิดเป็นร้อยละ 54.60) ซึ่งมีทั้งรับราชการ และทำงานในเมือง   รองลงมา คือ การประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป (คิดเป็นร้อยละ 22.60) และประกอบอาชีพงานอุตสาหกรรม (คิดเป็นร้อยละ 1.66)   นอกจากนี้มีจำนวนประชากรจำนวนไม่น้อยคิดเป็นร้อยละ 13.40 ของผู้อยู่อาศัยในชุมชนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเด็ก โดยคนวัยทำงานมักมีแหล่งงานอยู่ภายนอกชุมชน หรือในเมือง   แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านยังคงมีการรวมตัวกัน โดยเฉพาะงานทำบุญในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่างๆ

      นอกจากนี้ชุมชนยังการคงอยู่กับสภาพแวดล้อมแบบสะเทิ้นบกและบ้านเรือนไทยที่มีศักยภาพความเป็นพื้นถิ่นที่ดี จึงได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2549 ประเภทชุมชนพื้นถิ่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี   อย่างไรก็ตามเนื่องจากเศรษฐกิจของชุมชนมีความซบเซา และมีความพยายามหลายครั้งต่อการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนซึ่งเคยมีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ   ดังนั้นภายใต้กระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทำให้มีความพยายามของเทศบาลตำบลลาดชะโดร่วมกับคนในชุมชน ในการสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยว เพื่อฟื้นฟูตลาดโบราณลาดชะโด และวิถีชีวิตริมคลอง   โดยได้มีการจัดตั้งกลุ่มบริหารจัดการการท่องเที่ยวชุมชน มุ่งเน้นการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชน เพื่อการเรียนรู้ประเพณี และวิถีชีวิต   ทั้งนี้จึงมีการจัดกิจกรรมการแห่เทียนเข้าพรรษาทางน้ำ ในทุกปี โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2550

 

เอกสารอ้างอิง
  • นณณ์ ผาณิตวงศ์. 2550. บ้านลาดชะโด, อำเภอ ผักไห่, จังหวัด อยุธยา. http://www.siamensis.org/survey/s041.asp. เข้าถึงข้อมูล เดือนมกราคม 2550.
  • ฤทัย ใจจงรัก. 2539. เรือนไทยเดิม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์.
  • วันดี พินิจวรสิน. 2550. รายงานวิจัยฉบับสมบรูณ์ โครงการวิจัยวิวัฒนาการลักษณะสัณฐาน และคุณค่าทางวัฒนธรรมของบ้านและชุมชนไทยพื้นถิ่น ในละแวกจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.).