บทสรุปและข้อเสนอแนะ

บทสรุปการศึกษา

      บ้านเรือนและชุมชนพื้นถิ่นนับเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่สำคัญประเภทหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งถิ่นฐานและมีพัฒนาการทางสภาพแวดล้อม สังคม การปกครอง วัฒนธรรม และเศรษฐกิจที่มีรูปแบบเฉพาะเป็นของแต่ละท้องถิ่น   บ้านเรือนและชุมชนพื้นถิ่นเหล่านี้นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนทางสังคมวัฒนธรรมของแต่ละท้องที่ ในช่วงเวลาหนึ่งๆแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาในการอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อม รวมถึงการใช้ทรัพยากรและและเทคโนโลยีในการก่อสร้างได้อย่างเหมาะสม   อย่างไรก็ตามพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม และความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของประเทศ มีผลทำให้บ้านเรือนพื้นถิ่นเหล่านี้ลดลงไปเป็นจำนวนมากในหลายท้องถิ่น และในหลายกรณีถูกปรับเปลี่ยนไปในลักษณะที่ทำให้เกิดปัญหาด้านรูปแบบและเอกลักษณ์ของที่อยู่อาศัยของท้องถิ่น   การเคหะแห่งชาติ โดยฝ่ายวิชาการพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้ตระหนักถึงคุณค่าของภูมิปัญญาของบ้านเรือนพื้นถิ่นที่สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และเป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่าทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ที่หลากหลาย   “โครงการศึกษาวิจัยเพื่อจัดการความรู้เรื่องอัตลักษณ์และภูมิปัญญาด้านที่อยู่อาศัยของท้องถิ่น: กรณีศึกษาพื้นที่ภาคกลาง” จึงเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมองค์ความรู้รูปแบบที่อยู่อาศัยและวิถีการอยู่อาศัยของคนไทยในภาคกลาง บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มาจัดการความรู้ ประมวลเป็นสื่อชุดองค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการจัดทำสื่อมัลติมีเดียในรูปแบบพิพิธภัณฑ์เสมือน สำหรับเผยแพร่ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต อันจะเป็นแรงผลักดันให้สังคมเกิดการเรียนรู้ เกิดความรัก เกิดความภาคภูมิใจในคุณค่า และนำมาซึ่งการอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ให้คงอยู่สืบไป   โครงการวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาและสำรวจบ้านเรือนไทยพื้นถิ่น ในเบื้องต้นจำนวน 31 หลัง และในรายละเอียดจำนวน 15 หลัง และ 5 หลัง โดยวิธีการสังเกตและสัมภาษณ์ ใน 3 พื้นที่ 4 ชุมชน ได้แก่ พื้นที่สะเทินน้ำสะเทินบกในบริเวณชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด อำเภอผักไห่   พื้นที่ควบคุมน้ำในบริเวณชุมชนในตำบลบ้านใหม่ อำเภอมหาราช และชุมชนในตำบลปากกราน อำเภอพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ที่ถูกทำให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานในชุมชนหมู่ 1 และหมู่ 2 ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีบ้านเรือนที่ยังคงมีการดำรงอยู่ของคุณค่าศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของท้องถิ่นที่ดี

      จากการศึกษาพบข้อคิดสำคัญที่สามารถกล่าวได้เป็น 3 ส่วน   ส่วนแรก คือ สภาพแวดล้อมกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งพื้นที่ศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของของการตั้งถิ่นฐานในลักษณะสังคมลุ่มน้ำที่มีการใช้ลำน้ำเป็นแหล่งในการอยู่อาศัยและทำเกษตรกรรมมาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ตามการพัฒนาของสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ทำให้วิถีการทำกินและการอยู่อาศัยในบ้านเรือนของผู้คนในแถบนี้เปลี่ยนแปลงไปด้วย   ประเพณีของชุมชนบางส่วนถูกยกเลิกหรือบางส่วนเปลี่ยนแปลงไป   มีเพียงบางกิจกรรมหรืองานประเพณีที่สำคัญที่ถกคงไว้ โดยมักเป็นไปตามเงื่อนไขของฤดูกาล สภาพแวดล้อม และความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น   การศึกษานี้ยังพบว่าการยึดถือประเพณีของการเป็นครอบครัวขยายที่ยังคงมีสืบเนื่องและสะท้อนสู่ลักษณะของบ้านเรือน ที่ซึ่งในปัจจุบันจะลดลงไปมากก็ตาม

       ส่วนที่สอง คือ ลักษณะภูมิทัศน์บริเวณบ้าน   การศึกษานี้พบว่าในพื้นที่สะเทินน้ำสะเทินบก ทางเลือกของการพัฒนาด้วยระบบสะพานในชุมชนลาดชะโดเป็นทางเลือกในการพัฒนาชุมชนที่สามารถสร้างความสะดวกในการสัญจรภายในชุมชนแม้ว่าจะเป็นฤดูน้ำหลากและสามารถคงความเชื่อมโยงของระบบนิเวศแล้ว ยังสามารถสร้างอัตลักษณ์และสุนทรียภาพให้กับชุมชนที่แตกต่างจากท้องถิ่นอื่นๆอีกด้วย   นอกจากนี้องค์ประกอบต่างๆในบริเวณบ้านของชุมชนที่ศึกษา แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นปัจเจกมากขึ้น แต่ยังสะท้อนการมีวิถีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย เอื้อเฟื้อ และการพึ่งพาตนเองขั้นต้น

      ส่วนที่สาม คือ ลักษณะเรือน โครงสร้าง และองค์ประกอบ ซึ่งพบว่าเรือนไทยพื้นถิ่นในชุมชนที่ทำการศึกษายังคงแบบแผนทางประเพณีของชุมชน   บ้านเหล่านี้เป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง และหลังคาสูงทรงจอมแห   จากการศึกษาเรือนในอดีตในพื้นที่ศึกษามี 2 ลักษณะ คือ เรือนประธานที่มีพาไล และเรือนประธานที่มีหอหน้า โดยมีพื้นที่นอกชานต่อออกมา   เรือนเหล่านี้ส่วนใหญ่มักคงส่วนเรือนประธานไว้ตามแบบแผนประเพณี ในขณะที่องค์ประกอบอื่นๆของเรือนมีการปรับเปลี่ยนไป ได้แก่ การปิดล้อมนอกชานให้กลายเป็นพื้นที่โถง ปรับระดับพื้นเรือนภายในให้เสมอกัน และมีการต่อเติมพื้นที่ใช้สอยอื่นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการการอยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างและการใช้วัสดุของบ้านตามเทคโนโลยีการก่อสร้างที่มีในท้องถิ่น

 

การประมวลปัญหาและข้อเสนอแนะจากการศึกษา

      จากการศึกษาเรือนไทยพื้นถิ่นในละแวกจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สำคัญในเชิงภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พบว่ามีการคงอยู่ที่ดีทั้งในลักษณะเรือนและความเป็นกลุ่มชุมชนในหลายพื้นที่ เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆในละแวก   โดยเฉพาะในพื้นที่และชุมชนที่ทำการศึกษาจะพบว่าชาวบ้านเห็นคุณค่าความสำคัญและมีความภาคภูมิใจต่อการเก็บรักษาบ้านเรือนไทยของตน   สำหรับชาวบ้าน เรือนไทยพื้นถิ่นของตนนอกจากจะเป็นตัวแทนของบรรพบุรุษแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรืออาจหมายถึงความเป็นไทยในระดับภาพกว้าง   อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการเก็บรักษาโดยเฉพาะส่วนที่เป็นเรือนประธาน แต่ก็จะพบการต่อเติมและการเปลี่ยนแปลงของศิลปะสถาปัตยกรรมในการใช้วัสดุและโครงสร้างของบ้านเรือนเหล่านี้ เพื่อตอบสนองกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่และเงื่อนไขของสภาพแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนไปด้วย

      ส่วนในภาพรวมของภาคกลางโดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จะพบว่าเรือนไทยที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมในแต่ละชุมชนท้องถิ่นนั้น มีทั้งที่ยังคงรักษาไว้แต่อยู่อย่างกระจัดกระจาย และที่ถูกทำให้ลดจำนวนลงอย่างมาก   โดยเฉพาะการลดจำนวนลงบ้านเรือนไทยในท้องถิ่นต่างๆส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการขายหรือการโยกย้ายเรือนออกไปปลูกสร้างที่อื่นๆ เรือนบางส่วนถูกทิ้งร้าง และเรือนบางส่วนถูกปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองความต้องการตามวิถีชีวิตที่ทันสมัยจนก่อให้เกิดปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและเอกลักษณ์ของที่อยู่อาศัยของท้องถิ่น   ทั้งนี้สามารถกล่าวสรุปถึงปัญหาของการลดจำนวนลงของเรือนไทยในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ได้ดังนี้

 • การเปลี่ยนแปลงค่านิยมในการอยู่อาศัยสู่ความทันสมัยหรือความเป็นสังคมเมือง ร่วมด้วยกับการขาดความตระหนักในคุณค่าของเรือนซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประชาชนในหลายท้องทีj
• การขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเก็บรักษา เนื่องจากเรือนไทยมักมีการใช้วัสดุหลักที่เป็นไม้ ซึ่งในปัจจุบันเป็นวัสดุที่หายากและมีราคาแพง
• การขาดช่างฝีมือและการขาดการสืบทอดภูมิปัญญาช่างในการปลูกสร้างเรือนไทยในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลจากการขาดความต่อเนื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกสร้างของงานช่างไทย
• ในกรณีผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นเจ้าของบ้านเรือนไทยแต่อาจไร้ทายาทเสียชีวิตลง หรืออาจมีลูกหลานหรือทายาท แต่อาจไม่ได้พำนักอาศัยในท้องถิ่น หรือมีการเปลี่ยนแปลงอาชีพและการโยกย้ายถิ่นฐานตามแหล่งงาน จึงมีผลทำให้บ้านเรือนไทยบางส่วนที่ถูกทิ้งร้างและชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากไม่ได้รับการดูแล

      เรือนไทยพื้นถิ่นในแต่ละท้องที่มีวิวัฒนาการที่ควบคู่ไปการดำรงชีวิตของคนไทย และมักมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของสภาพแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา   แต่การเปลี่ยนแปลงของเรือนไทยพื้นถิ่นนั้นก็ไม่ควรเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยลบล้างสิ่งที่ดีงามในอดีต และไม่ควรเป็นเพียงการเก็บรักษาหรืออนุรักษ์เพียงแต่ลักษณะทางกายภาพ โดยยึดเอาลักษณะตามแบบแผนในอดีตทั้งหมดเท่านั้น   การเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ควรสามารถที่จะธำรงรักษาความสำคัญทางวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นเอาไว้ และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน   การดำเนินการเพื่อธำรงเรือนไทยพื้นถิ่นเหล่านี้ควรเป็นไปในแนวทางของการพัฒนาในเชิงอนุรักษ์ ที่สามารถรักษาคุณค่าความสำคัญทางวัฒนธรรมในสถาปัตยกรรม และควรเป็นไปโดยประชาชนในแต่ละท้องถิ่นเอง   การศึกษานี้จึงได้มีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาหรือการอนุรักษ์เรือนไทยในท้องถิ่นต่อทั้งหน่วยงานในท้องถิ่น การเคหะแห่งชาติ และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงข้อเสนอแนะต่อการศึกษาในอนาคตอีกด้วย

ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานท้องถิ่น

      หน่วยงานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนับเป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนและชุมชน จึงเป็นองค์กรมีความสำคัญและมีบทบาทอย่างมากต่อการผลักดันการพัฒนาในเชิงอนุรักษ์สำหรับที่อยู่อาศัยที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและสร้างให้เกิดการดำรงอยู่ที่ยั่งยืนทั้งทางด้านสภาพแวดล้อมและสังคมวัฒนธรรม   โดยการศึกษานี้มีข้อคิดเห็นที่เป็นข้อเสนอแนะดังนี้

  • หน่วยงานของท้องถิ่นควรมีการทำการรวบรวมข้อมูลทั้งในเรื่องลักษณะบ้านเรือนของชุมชนและปราชญ์ชาวบ้านของชุมชน โดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้ หรือมีความสามารถ เชี่ยวชาญด้านการปลูกสร้างบ้านเรือนไทยในของท้องถิ่นของตน และสร้างพื้นที่หรือเวทีให้ปราชญ์ชุมชนเหล่านี้ได้สามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่องานในลักษณะนี้ให้แก่เยาวชนในท้องถิ่น โดยอาจสร้างความร่วมมือกับโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาของท้องถิ่นที่อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบ ซึ่งนอกจากจะสร้างโอกาสการถ่ายทอดความรู้แล้ว ยังทำให้เกิดการรู้จักบุคคลสำคัญในชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างวัย และเกิดการแนะนำอาชีพภายในชุมชนอีกด้วย
  • ควรมีการส่งเสริมและประสานความร่วมมือกับโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาของท้องถิ่นที่อยู่ในความรับผิดชอบ ให้เกิดรายวิชา บทเรียน หรือการศึกษาที่เกี่ยวเนื่องกับความสำคัญของสภาพแวดล้อมและสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ซึ่งบ้านเรือนไทยพื้นถิ่นในท้องถิ่นก็นับเป็นส่วนหนึ่งด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลของท้องถิ่น และอาจมีการจัดหาพื้นที่ในการจัดแสดงผลงานการรวบรวมข้อมูลโดยเยาวชนของท้องถิ่น การรวบรวมฐานความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นนี้ นอกจากเป็นการสร้างการรู้จักท้องถิ่นและการสร้างความตระหนักถึงคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้กับลูกหลานได้แล้ว ยังสามารถเป็นส่วนที่ให้ความรู้ต่อผู้ที่สนใจหรือนักท่องเที่ยวเพื่อเห็นถึงความสำคัญของชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย
  • การจัดหาช่างเขียนแบบที่มีความรู้เกี่ยวเนื่องกับบ้านเรือนไทยของท้องถิ่น หรือสนับสนุน ส่งเสริมให้นายช่างเขียนแบบของหน่วยงานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความรู้ด้านเรือนไทยโบราณหรือเรือนไทยในรูปแบบประเพณี เพื่อการจัดทำแบบก่อสร้างบ้านเรือนที่มีลักษณะไทยในการบริการให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งนี้อาจเป็นการประสานความร่วมมือกับปราชญ์หรือผู้รู้ของชุมชนในการให้คำปรึกษา และกระตุ้นให้ประชาชนของท้องถิ่นเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์บ้านเรือนไทยพื้นถิ่นในแต่ละท้องที่ไปด้วย
  • การสร้างแรงกระตุ้น (Incentive) ในการอนุรักษ์ โดยการจัดหาทุน แหล่งทุน หรือจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงบ้านเรือนที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นในแนวทางของการอนุรักษ์ รวมถึงการเสนอนโยบายต่อภาครัฐในการลดหย่อนภาษีโรงเรือนให้กับชาวบ้านผู้ที่มีการเก็บรักษาบ้านเรือนไทยที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของตนไว้ได้
ข้อเสนอแนะต่อการเคหะแห่งชาติ

      เนื่องจากการเคหะแห่งชาติเป็นองค์กรหลักในการพัฒนา สนับสนุน ส่งเสริมความมั่นคงในการอยู่อาศัย จึงสามารถที่จะมีบทบาทในการเสนอแนะนโยบายและแผนในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย รวมถึงสามารถที่จะเป็นแรงผลักดันจากภายนอกเพื่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นต่างๆได้   ข้อคิดเห็นที่เป็นข้อเสนอแนะต่อการเคหะแห่งชาติในการส่งเสริมการพัฒนาในเชิงอนุรักษ์ต่อที่อยู่อาศัยที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและสร้างให้เกิดความยั่งยืนต่อไปมีดังนี้

 ◊ การพัฒนาระบบการเก็บรวบรวมข้อมูล และการเผยแพร่ภูมิปัญญาด้านที่อยู่อาศัยของท้องถิ่นให้มีความสืบเนื่อง

      โครงการศึกษาวิจัยเพื่อจัดการความรู้เรื่องอัตลักษณ์และภูมิปัญญาด้านที่อยู่อาศัยของท้องถิ่นที่ถูกดำเนินการนี้ นับเป็นโครงการที่ดีในการสร้างการจัดการข้อมูลสื่อสารสนเทศที่อยู่อาศัยของท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการสร้างให้เกิดความน่าสนใจต่อการเรียนรู้ผ่านการจัดทำสื่อ Multimedia และมี Interactive ซึ่งในปัจจุบันโครงการปัจจุบันผ่านการจัดทำพิพิธภัณฑ์เสมือนในลักษณะ Game animation   อย่างไรก็ตามบ้านและเรือนพื้นถิ่นมีความหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น จึงยังคงต้องขยายการรวบรวมการศึกษาและสร้างฐานข้อมูลให้กว้างขวางและครอบคลุมในหลากหลายท้องที่   นอกจากนี้ควรมีการเผยแพร่ขาวสารให้เป็นที่รับรู้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น ซึ่งสามารถกระทำได้ในหลายแนวทาง เช่น

  •  การจัดทำเอกสารแนะนำโครงการวิจัยฯในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการใช้สื่อบริการบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อเผยแพร่สู่จังหวัดและชุมชนท้องถิ่นให้ทั่วถึง
  •  การจัดตั้งพื้นที่เฉพาะสำหรับเป็นศูนย์กลางหรือแหล่งในการศึกษาค้นคว้าความรู้ด้านนี้ อาจมีขึ้นที่การเคหะแห่งชาติเองและที่สำนักงานในระดับจังหวัดหรือระดับท้องถิ่น
  •  การส่งเสริมการสร้างรายการโทรทัศน์ (TV Program) ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยที่เป็นมรดกภูมิปัญญาของท้องถิ่น ที่เป็นผลจากการศึกษาของโครงการฯ โดยให้องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในแต่ละพื้นที่ศึกษาเข้าร่วม  การจัดทำรายการโทรทัศน์นอกจากจะเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ของโครงการฯได้กว้างขวางมากขึ้นแล้ว ยังจะเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดความรักและความเข้าใจในความเป็นชุมชนของตนเองของผู้คนในท้องถิ่น ในขณะเดียวกันจะสามารถสร้างให้เกิดความเข้าใจในความแตกต่างทางสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมสำหรับผู้คนในสังคมภาพกว้างอีกด้วย

 ◊ การส่งเสริมและสร้างให้ประชาชนเกิดจิตสำนึกรักและหวงแหนในคุณค่าของที่อยู่อาศัยที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของตนเอง

      บ้านเรือนนับเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นความซับซ้อนทางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นและช่วงเวลา   การเปลี่ยนแปลงบ้านเรือนที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้เกิดการรักษาความสำคัญทางวัฒนธรรมในสถาปัตยกรรมนั้น ควรมาจากการรู้หรือการตระหนักในคุณค่าของที่อยู่อาศัยของประชาชนหรือเจ้าของเรือนเอง   การเปลี่ยนแปลงนี้จึงจะสามารถเกิดการสร้างสรรค์และรักษาที่อยู่อาศัยของตนให้คงคุณค่ากับท้องถิ่นต่อไป   ทั้งนี้การเคหะแห่งชาติสามารถมีส่วนในการสร้างและส่งเสริมความตระหนักรู้ต่อคุณค่าของสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนได้ในหลายแนวทาง เช่น

  •  การส่งเสริมการสร้างเครือข่ายด้านการอนุรักษ์ที่อยู่อาศัยที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นของประชาชนในระดับชุมชน หน่วยงานของท้องถิ่น จังหวัด และภูมิภาค
  •  การจัดหาแหล่งทุนหรือจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนหน่วยงานท้องถิ่นในการปรับปรุงหรืออนุรักษ์บ้านเรือนที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น
  • การส่งเสริมให้มีกฎหมายเฉพาะต่อลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยของท้องถิ่น เนื่องจากกฎหมายจะมีส่วนช่วยป้องกันรักษาลักษณะทางสถาปัตยกรรมและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นได้ นอกจากนี้การจัดทำกฎหมายท้องถิ่นจะต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งกระบวนการการจัดทำจะเป็นส่วนช่วยสร้างความตื่นตัวและการตระหนักรู้ถึงคุณค่าของสถาปัตยกรรมท้องถิ่นได้ดีมากขึ้น   อีกทั้งยังเป็นการสร้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาท้องถิ่นของตนเองอีกด้วย
  • สร้างแรงกระตุ้น (Incentive) ของการอนุรักษ์ โดยผลักดันให้เกิดการลดหย่อนภาษีโรงเรือนสำหรับประชาชนที่เป็นเจ้าของบ้านเรือนที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้
  •  ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายของช่างปลูกบ้านเรือนไทย

 ◊ การสืบทอดภูมิปัญญาและการพัฒนางานช่างไทย

      เนื่องจากการพัฒนาการของวัสดุและเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้งานช่างไม้ที่เป็นภูมิปัญญาสำคัญในการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยของไทยไม่ได้รับการพัฒนาให้เกิดความต่อเนื่อง และกำลังสูญหายไปในบางท้องถิ่น   การเคหะแห่งชาติสามารถมีบทบาทในการสืบสานและพัฒนางานด้านนี้เพื่อเป็นส่วนในการพัฒนาและอนุรักษ์ที่อยู่อาศัยที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้สืบเนื่องต่อไป ดังนี้

  •  การส่งเสริมให้มีการศึกษาและการรวบรวมความรู้ด้านเทคนิคงานช่างในการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นให้กว้างขวาง และจัดทำเป็นสื่อสารสนเทศและสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการเผยแพร่สู่สาธารณะ
  • การส่งเสริมการประยุกต์การใช้เทคนิคงานช่างในการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยที่เป็นภูมิ-ปัญญาของท้องถิ่น การประยุกต์ในแง่นี้นอกจากจะหมายถึง เทคนิคงานช่างต่างๆ โดยเฉพาะการเข้าไม้แล้ว ยังหมายถึงประยุกต์ใช้เทคนิคร่วมกับการใช้วัสดุอื่นๆ เช่น วัสดุทดแทนไม้อื่นๆ หรืองานเหล็ก เป็นต้น   การส่งเสริมในลักษณะนี้อาจกระทำโดยการจัดการประกวด การให้รางวัล หรือทุนสนับสนุนการดำเนินการในด้านนี้   ทั้งนี้มิควรเป็นเพียงผลงานที่เป็นงานสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ควรครอบคลุมศิลปะในแขนงอื่นๆ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นการนำงานช่างเทคนิคที่เป็นภูมิปัญญาในท้องถิ่นต่างๆ มาสร้างนวัตกรรมในเรื่องนี้และเผยแพร่ออกสู่สังคมในวงกว้างต่อไป
  • การส่งเสริมการจัดตั้งหลักสูตร และโรงเรียน/สถาบันช่างไทยที่กระจายตัวออกไปสู่ระดับภูมิภาคและท้องถิ่นต่างๆ รวมถึงการจัดหาแหล่งงานให้กับผู้ที่เป็นผลผลิตของสถาบัน ทั้งนี้อาจใช้ตัวอย่างการบริหารจัดการ เช่น สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเนชั่น และโรงเรียนภาวนาโพธิคุณ เป็นต้น
ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

      ในส่วนนี้เป็นข้อคิดเห็นต่อหลายหน่วยงานอันอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหาทรัพยากรไม้เพื่อการปลูกสร้างอาคารบ้านเรือน อาทิ รัฐบาล สำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และจังหวัด เป็นต้น   เนื่องจากบ้านเรือนพื้นถิ่นส่วนใหญ่ปลูกสร้างจากไม้ แต่ในปัจจุบันไม้เป็นวัสดุที่หายากและราคาแพง   บ้านเรือนในท้องถิ่นต่างๆจึงมักเปลี่ยนมาใช้วัสดุอื่นๆ โดยเฉพาะคอนกรีต ส่งผลโดยตรงต่ออัตลักษณ์ของท้องถิ่นในภาพรวม และเป็นผลทำให้องค์-ความรู้ที่มีในบ้านเรือนไทยของท้องถิ่น โดยเฉพาะด้านโครงสร้างไม้ต่างๆ รวมถึงความประณีตในงานช่างฝีมือก็หายไปด้วย   นอกจากนี้การใช้วัสดุคอนกรีตในการสร้างบ้านเรือนยังเป็นการสร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโครงสร้างคอนกรีต มีต้นทางของวัสดุที่เป็นเปลี่ยนแปลงหรือการทำลายภูมิศาสตร์สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะภูเขาหินปูน และทรายที่จำเป็นต้องมีการดูดทรายจากใต้ผืนดินมาเป็นส่วนผสม   วัสดุต้นทางเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลาในการกำเนิดนับเป็นพันปี   แต่หากเทียบกับไม้ซึ่งใช้ระยะเวลาในการปลูกไม่นานนัก และทำให้เกิดการสูญเสียหรือการทำลายของสิ่งแวดล้อมที่น้อยกว่า   ดังนั้นจึงควรมีการส่งเสริมให้สังคมได้กลับมาใช้ไม้ ที่ส่วนหนึ่งอาจมาจากการใช้วัสดุไม้หมุนเวียน หรือการนำไม้เก่ากลับมาใช้ และอีกส่วนควรมาจากการปลูกเพื่อการอุตสาหกรรม ในพื้นที่ที่เป็นระบบนิเวศป่าหมุนเวียน   แม้ว่าองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) จะมีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีปริมาณน้อยและไม่พอเพียง   หากมีการผลักดันให้เกิดพื้นที่ป่าปลูกเพื่อการอุตสาหกรรมในประเทศให้มากขึ้นได้ จะเป็นการสร้างประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งทางด้านความมั่นคงทางด้านฐานทรัพยากรสำหรับการสร้างอยู่อาศัยที่สำคัญให้กับประเทศอย่างยั่งยืน ด้านการลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และด้านการสร้างานและการสืบสานภูมิปัญญาของงานช่างของไทยต่อไปได้อีกด้วย

ข้อเสนอแนะต่อการศึกษาในอนาคต

       ในการศึกษาของโครงการวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาภาพรวมของเรือนไทยพื้นถิ่นของภาคกลาง โดยมุ่งเน้นบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา และพิจารณาเลือกศึกษาเรือนไทยพื้นถิ่นในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในเชิงลึก เพื่อเป็นกรณีศึกษานำร่อง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการคงอยู่ของเรือนไทยพื้นถิ่นที่ดีอย่างมีนัยสำคัญทั้งลักษณะตัวเรือนและชุมชน   แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาในครั้งนี้ไม่สามารถนับเป็นตัวแทนของเรือนไทยพื้นถิ่นของภาคกลางได้ทั้งหมดและนับเป็นข้อจำกัดของงานวิจัย ทั้งนี้เนื่องจากเรือนไทยพื้นถิ่นในแต่ละท้องถิ่นต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะและมีความแตกต่างกันไป ตามเงื่อนไขทั้งจากสภาพแวดล้อม สังคมวัฒนธรรม และเศรษฐกิจของท้องถิ่น ซึ่งอย่างน้อยก็เห็นได้จากการอภิปรายในหัวข้อ 2.4 ของความแตกต่างของเรือนไทยพื้นถิ่นในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและในจังหวัดเพชรบุรี   จากการศึกษาค้นคว้าและการลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ต่างๆโดยผู้วิจัย และจากการสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ อรศิริ ปาณินท์ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสำคัญและมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการศึกษาบ้านเรือนและชุมชนพื้นถิ่นของประเทศไทย จะพบการคงอยู่ที่ดีของบ้านเรือนไทยพื้นถิ่น ทั้งในลักษณะเรือนและการรวมตัวเป็นกลุ่มชุมชน ในหลายพื้นที่ของหลายจังหวัดที่ควรถูกประมวลและรวบรวมไว้ ซึ่งมีดังนี้

• อำเภอพยุหะคีรี และอำเภอท่าตะโก  จังหวัดนครสวรรค์
• อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท
• อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
• อำเภอเมือง อำเภอบ้านหมี่  และอำเภอบ้านหนองหัวลิง  จังหวัดลพบุรี
• อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง
• อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
• อำเภอมหาราช อำเภอผักไห่  อำเภอเสนา  อำเภอบางบาล  อำเภอบางปะหัน  อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
• อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
• อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
• อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

      นอกจากนี้ยังมีแหล่งในการคงอยู่ที่ดีของบ้านเรือนไทยพื้นถิ่นในบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ซึ่งเป็นส่วนต่อเชื่อมกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา  รวมถึงลุ่มน้ำเพชรบุรี ซึ่งในหมวดหมู่ของการจัดแบ่งจังหวัดตามภูมิภาค นับเป็นส่วนหนึ่งในภูมิภาคภาคกลาง ที่สมควรได้รับการประมวลเอาไว้ด้วย ซึ่งมีดังนี้

• อำเภอบางปลาม้า อำเภอบางแม่หม้าย  อำเภออู่ทอง  จังหวัดสุพรรณบุรี
• อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
• อำเภอโพธาราม อำเภอดำเนินสะดวก  อำเภอสวนผึ้ง  จังหวัดราชบุรี
• อำเภอบ้านแพ้ว อำเภอเมือง  จังหวัดสมุทรสงคราม
• อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด  อำเภอเมือง  อำเภอบ้านแหลม  อำเภอบางตะบูน  อำเภอบางขุนไทร  อำเภอหนองหญ้าปล้อง  อำเภอเขาย้อย  จังหวัดเพชรบุรี

ภาพ_แหล่งในการคงอยู่ที่ดีของบ้านเรือนไทยพื้นถิ่นในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง และลุ่มน้ำเพชรบุรี

      แม้ว่าเรือนไทยพื้นถิ่นในท้องที่ต่างๆเหล่านี้จะได้รับการศึกษาจากนักวิชาการต่างๆไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการศึกษา หรือการทำการรวบรวมข้อมูลเป็นสื่อชุดองค์ความรู้ ดังเช่นที่มีการดำเนินการตามโครงการศึกษานี้   จึงเห็นควรที่จะมีการดำเนินการศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลในหลายมิติ ทั้งทางด้านกายภาพ ด้านสังคมวัฒนธรรมชุมชน และด้านความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ และนำมาจัดทำเป็นสื่อชุดองค์ความรู้สารสนเทศของเรือนไทยพื้นถิ่นในแหล่งชุมชนต่างๆเหล่านี้สืบเนื่องต่อไป เพื่อให้เกิดการต่อยอดการสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และเป็นการรวบรวมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านที่อยู่อาศัยที่มีการดำเนินการตามโครงการศึกษานี้และโครงการก่อนหน้านี้ไปแล้วนั้น ให้ได้เกิดประสิทธิผลอย่างจริงจัง   นอกจากนี้เนื่องจากโครงการวิจัยนี้มีการจัดทำการเผยแพร่ข้อมูล ในลักษณะสื่อ Animation ผ่านการจัดทำพิพิธภัณฑ์เสมือน ที่สามารถเผยแพร่ผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งนอกจากจะสามารถบอกเล่าเรื่องราว คุณค่าและภูมิปัญญาเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยเหล่านี้แล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถสร้างให้เกิดความภาคภูมิใจ หวงแหน และอนุรักษ์คุณค่าภูมิปัญญาที่มีต่อบ้านเรือนและชุมชนของท้องถิ่นไทยได้สืบเนื่องต่อไป